มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขึ้นอันดับ 14 ของไทย การจัดอันดับ WEBOMETRICS RANKING 2024

          มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขึ้นอันดับที่ 14 ของไทย จาก 192 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ อันดับ 1,622 ของโลก จากการจัดอันดับ Webometrics Ranking of World Universities 2024 รอบเดือนมกราคมนี้

          เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา Cybermetrics Lab ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยของสภาวิจัยแห่งชาติ ประเทศสเปน ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัย Webometrics Ranking of World Universities 2024 ผ่านทางเว็บไซต์ www.webometrics.info         ผลปรากฏว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 14 ของประเทศไทย จาก 192 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และอันดับที่ 1,622 ของโลก

          หากดูสถิติผลการจัดอันดับ Webometrics Ranking ของ ม.วลัยลักษณ์ในระดับประเทศและระดับโลกย้อนหลัง 6 ปี พบว่า อันดับมีการขยับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2018, 2019, 2020, 2021, 2022 และ2023  ม.วลัยลักษณ์ อยู่ในอันดับที่ 31, 24 , 23 , 19 ,15 และ 15 ของประเทศ ส่วนอันดับโลกอยู่ในลำดับที่ 3,931  3,033 , 2,951 , 2,379, 1,814 และ 1,734 ของโลก ตามลำดับ        

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฟารีดา เจะเอาะ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภายใต้การนำของศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีนโยบายในการขับเคลื่อนการจัดอันดับ Webometrics Ranking โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ขึ้นตั้งแต่ปี 2021 โดยมีอธิการบดีเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และเว็บไซต์หน่วยงานภายในเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การจัดอันดับ Webometrics Ranking of World Universities ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ขยับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา” 

          อย่างไรก็ตาม อันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยในปีนี้ พบว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังคงครองอันดับ 1 ของไทยอย่างต่อเนื่องและเป็นอันดับที่ 414 ของโลก โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามมาเป็นอันดับ 2 อันดับที่ 461 ของโลก และมหาวิทยาลัยมหิดล อันดับ 3 ของไทย อันดับที่ 504 ของโลก

          สำหรับการจัดอันดับ “Webometrics Ranking of World Universities” เป็นการวัดความสามารถในการเป็น “มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (E-university)” มีเกณฑ์การประเมิน 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) VISIBILITY (impact) คือจำนวนการเชื่อมโยงจากลิงค์ภายนอก (subnet) ที่เข้าสู่เว็บเพจมหาวิทยาลัย 50%   2) TRANSPARENCY (or OPENNESS) คือ จำนวนการ citations ผลงานวิจัย ของผู้วิจัยที่มีข้อมูลอยู่ในฐาน Google Scholar 10% และ 3) EXCELLENCE (or SCHOLAR) คือ จำนวน papers และการ cited papers ที่อยู่ในฐานข้อมูล SCImago 40%

ที่มา : เว็บไซต์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Facebook Comments Box